

เครื่องแต่งกายไทย
“สมัยรัตนโกสินทร์ ร.1-8“
สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2468 – 2477
รัชกาลที่ 7 เป็นยุคที่คนไทยมีโอกาสได้ไปศึกษายังต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คนไทยจึงมีความสนใจในวัฒนธรรมของชาติตะวันตกมากขึ้น สำหรับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาติตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกายของชาวอเมริกันที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงนั้น
ผู้หญิงมีการนุ่งกระโปรงกันมากขึ้น และมีการประยุกต์การนุ่งผ้าซิ่นแบบเดิมมาตัดเป็นผ้าถุงสำเร็จ ซึ่งเป็นผ้าถุงที่เย็บพอดีเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด นิยมสวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาวคลุมสะโพก ไม่มีแขน ใส่สายสร้อย และตุ้มหูยาวแบบต่างๆสวมกำไล ส่วนทรงผมนิยมดัดเป็นลอน และมีผ้าคาดผม
ผู้ชายต้นรัชสมัยนิยมนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้า รองเท้า และสวมหมวกกะโล่ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเห็นว่า การแต่งกายของข้าราชการที่แต่งกันอยู่ในเวลานั้นมีความล้าสมัยไม่เหมาะกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อไม่ให้เป็นที่ดูหมิ่นจากชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อในประเทศ จึงประกาศให้ยกเลิกการนุ่งผ้าม่วงโดยให้นุ่งกางเกงขายาวตามแบบฝรั่งแทน
ลักษณะชุด
ผู้หญิง
สวมเสื้อหลวมตัวยาวคลุมสะโพก แขนสั้นหรือไม่มีแขน นิยมแต่งชายเสื้อด้านซ้ายด้วยโบว์ผูกทิ้งชายยาว นุ่งผ้าซิ่นเสมอเข่าที่ตัดเย็บเป็นถุงสำเร็จและเป็นซิ่นที่ไม่มีเชิง หรือนุ่งกระโปรงยาว
ผู้ชาย
สวมเสื้อคอกลมผ้าขาวบางหรือสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบนหรือกางเกงผ้าแพรเวลาออกงานจะใส่สูททับ และสวมกางเกงขายาว
ส่วนประกอบชุด
ผู้หญิง
เสื้อตัวหลวม ซิ่นหรือกระโปรงยาว
ผู้ชาย
เสื้อคอกลมหรือเสื้อราชปะแตน โจงกระเบนหรือกางเกง
ทรงผม
ผู้หญิง
ไว้ผมสั้นดัดลอน เรียกว่า “ทรงซิงเกิล” นิยมติดโบว์ที่ผม
ผู้ชาย
ตัดผมสั้น
เครื่องประดับ
ผู้หญิง
นิยมติดโบว์ที่ผม ใส่ต่างหู สร้อยคอไข่มุกเส้นยาว และสวมกำไลมือ
ผู้ชาย
สวมหมวกกะโล่หรือหมวกสักหลาด

ภาพการแต่งกายของเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 7

ภาพครอบครัวราชการสมัยรัชกาลที่ 7
ที่มา อเนก นาวิกมูล, 2547